ประวัติการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ โดยการจัดการอบรมพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นทางการ ให้ครอบคลุมในทุกด้านที่สำคัญ เพื่อให้ คณาจารย์และบุคลากรสายปฏิบัติการ มีความรู้ ความสามารถ ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลัง เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

จุดเริ่มต้นการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ

          ในการสัมมนาผู้อำนวยการในสังกัดสำนักงานมหาวิทยาลัยและเลขานุการคณะ สถาบันฯ เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบ Competency และ Individual Development Plan (IDP) ของบุคลากรสายปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรมวรบุรี อโยธยา คอนเวนชัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการกำหนดหัวข้อหนึ่งในการประชุมครั้งนั้น คือ แนวทางการพัฒนาเครือข่ายวิชาชีพ ซึ่งที่ประชุมได้ระดมความคิดเห็นและได้ข้อสรุปว่า เห็นสมควรให้มีการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมา มหาวิทยาลัย โดยท่านอธิการบดี (ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล) รองอธิการบดี (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เจษฎา แสงสุพรรณ) และผู้ช่วยอธิการบดี (นายเกรียงศักดิ์ บูรณปัทมะ) ได้สนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. สร้างเครือข่ายการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรสายปฏิบัติการในแต่ละวิชาชีพให้มีการสื่อข้อความอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
  2. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างความเข้าใจในนโยบาย ระเบียบ แนวปฏิบัติ ปัญหา อุปสรรคและวิธีการแก้ไขที่เกี่ยวข้องในแต่ละวิชาชีพ
  3. พัฒนาบุคลากรในแต่ละเครือข่ายวิชาชีพให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะตามความจำเป็นต้องการของวิชาชีพนั้นๆ อย่างทั่วถึง และได้รับการยอมรับเป็นมืออาชีพ
  4. ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรในแต่ละวิชาชีพ (Occupational Development Roadmap) ไว้เป็นบรรทัดฐานสำหรับตำแหน่งในระดับต่างๆ
  5. ร่วมกันเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือแนวปฏิบัติอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนั้นๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
  6. เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรในแต่ละวิชาชีพและต่างวิชาชีพ

 ในระยะเริ่มแรก ปี พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ วิชาชีพต่างๆ
ดังนี้

ปี พ.ศ. 2553

  1. วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง
  2. วิชาชีพการเงิน
  3. วิชาชีพการบัญชี
  4. วิชาชีพการพัสดุ
  5. วิชาชีพแผนและงบประมาณ
  6. วิชาชีพบริการวิชาการและวิจัย
  7. วิชาชีพวิชาการและหลักสูตร
  8. วิชาชีพกิจการต่างประเทศ
  9. วิชาชีพบุคคล
  10. วิชาชีพสารบรรณ
  11. วิชาชีพอาคารสถานที่และยานพาหนะ
  12. วิชาชีพโสตทัศนศึกษา
  13. วิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ
  14. วิชาชีพห้องสมุด   (จัดตั้งมาก่อนปี พ.ศ. 2553)

ปี พ.ศ. 2554

 15.  วิชาชีพประชาสัมพันธ์

 16.  วิชาชีพทะเบียนและประมวลผล

 17.  วิชาชีพกิจการนิสิต

ปี พ.ศ. 2555

 18.  วิชาชีพบริหารคุณภาพองค์กร

 

 ปัจจุบัน มีเครือข่ายฯ รวม 18 เครือข่าย คือ

  1. วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง ด้านบริหาร
  2. วิชาชีพการเงิน
  3. วิชาชีพการบัญชี
  4. วิชาชีพการพัสดุ
  5. วิชาชีพแผนและงบประมาณ
  6. วิชาชีพบริการวิจัยและบริการวิชาการ
  7. วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง ด้านวิชาการ (ควบรวมกับเครือข่ายวิชาชีพวิชาการและหลักสูตร)
  8. วิชาชีพวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ (เปลี่ยนชื่อจากเครือข่ายกิจการต่างประเทศ)
  9. วิชาชีพบุคคล
  10. วิชาชีพสารบรรณ
  11. วิชาชีพอาคารสถานที่และยานพาหนะ
  12. วิชาชีพโสตทัศนศึกษา
  13. วิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ
  14. วิชาชีพห้องสมุด   (จัดตั้งมาก่อนปี พ.ศ. 2553)
  15. วิชาชีพประชาสัมพันธ์
  16. วิชาชีพทะเบียน (เปลี่ยนชื่อจากเครือข่ายวิชาชีพทะเบียนและประมวลผล)
  17. วิชาชีพกิจการนิสิต
  18. วิชาชีพบริหารคุณภาพองค์กร

 การดำเนินงาน

          มหาวิทยาลัย โดยกองทุนเพื่อการพัฒนาบุคลากร ได้สนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณการดำเนินงานของเครือข่ายฯ วิชาชีพ โดยกำหนดกิจกรรมหลักในการดำเนินงานของเครือข่ายฯ คือ

  1. การจัดประชุมคณะกรรมการเครือข่ายฯ ประจำเดือน เพื่อใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรึกษาหารือ เสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน การจัดกิจกรรมการฝึกอบรมพัฒนาให้กับสมาชิก และอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเครือข่ายฯ
  2. การจัดการประชุม ฝึกอบรม สัมมนา เพื่อพัฒนาบุคลากรของเครือข่ายฯ โดยเน้นการพัฒนาตามสมรรถนะวิชาชีพ (Functional Competency) ในลักษณะพี่สอนน้อง
  3. การพัฒนาเครือข่ายฯ ในกิจกรรมสำคัญในแต่ละปี โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาบุคลากรจะกำหนดหัวข้อสำคัญในการพัฒนา เช่น

3.1     ปี พ.ศ. 2554 โครงการพัฒนาพัฒนาเครือข่ายฯ ด้วยแนวคิด Lean เพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ซึ่งจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ และส่งเสริมให้เครือข่ายเสนอผลงานเข้าร่วมในโครงการมหกรรมคุณภาพ “ก้าวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ ก้าวใหม่ๆ เพื่อจุฬาฯ” โดยมีเครือข่ายที่ได้รับรางวัลดังนี้

  1. เครือข่ายวิชาชีพบริการวิจัยและบริการวิชาการ จัดทำโครงการการบริหารจัดการทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม
  2. เครือข่ายวิชาชีพวิชาการและหลักสูตร จัดทำโครงการลดระยะเวลาการอนุมัติหลักสูตร ได้รับรางวัลดีเด่น
  3. เครือข่ายวิชาชีพกิจการต่างประเทศ จัดทำโครงการลดขั้นตอนการให้บริการวิซ่า (Visa) ได้รับรางวัลดีเด่น

3.2     ปี พ.ศ. 2555 โครงการจัดทำตัวชี้วัดระดับบุคคล สายปฏิบัติการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานเป็นรูปเล่ม สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดผลผลิตในการมอบหมายงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน

3.3     ปี พ.ศ. 2556 โครงการ KM การจัดการความรู้เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ โดยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ และส่งเสริมให้เครือข่ายฯ จัดระบบการนำความรู้ประเภทต่างๆ เช่น คู่มือการปฏิบัติงาน เทคนิควิธีการทำงาน ฯลฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมให้มีการรวมรวมองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งในด้านการปฏิบัติงาน การบริหารจัดการ ทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุง ตลอดจนมีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ภายในเครือข่ายและระหว่างเครือข่าย

3.4    ปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยได้จัดทำเวปไซต์ KM การจัดการความรู้เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ https://www.km.chula.ac.th เพื่อใช้เป็นสื่อกลางสำหรับสมาชิกเครือข่าย ฯ และได้มีการทำคู่มือการปฎิบัติงานของวิชาชีพ มีการจัดทำหลักสูตร “พี่สอนน้อง” เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ของสมาชิกที่เข้ามาทำงานในวิชาชีพนั้นๆ

การพัฒนาต่อเนื่องเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ https://km.chula.ac.th/wp-content/uploads/2014/08/New1.gif

       เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพ สายปฏิบัติการ ให้เกิดการพัฒนาบุคลากร เกิดการพัฒนางานที่เน้นคุณค่าในมุมมองของผู้รับบริการ เกิดการทำงานเป็นทีมระหว่างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เกิดการเรียนรู้ของบุคลากรทุกระดับและเกิดการทำงานที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ เชื่อมโยงการทำงานของระบบงานต่าง ๆ โดยลดความสูญเปล่า จึงเห็นสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพ สายปฏิบัติการ วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง  ด้านบริหาร โดยให้มีขอบข่ายภาระหน้าที่ คือ
     1. สร้างเครือข่ายการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรสายปฏิบัติการให้รวดเร็วและทั่วถึง
     2. จัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเพิ่มความเป็นมืออาชีพในแต่ละงาน
     3. สร้างความเข้าใจในนโยบาย ระเบียบ เร่งปรับปรุงแก้ไขปัญญา ในแต่ละงาน
     4.  ร่วมกันกำหนด Occupational Development Roadmap ไว้เป็นบรรทัดฐานสำหรับแต่ละงานหรือวิชาชีพในระดับต่างๆ
     5.  ร่วมรับนโยบายการบริหารงานอย่างโปร่งใสไปปฏิบัติและถ่ายทอดในส่วนงาน/หน่วยงาน พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้เกิดความโปร่งใสยิ่งขึ้น
     6.  ร่วมปฏิบัติตามนโยบายและร่วมพัฒนาการดำเนินงานที่เอื้อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรลุพันธกิจด้วยกระบวนการที่โปร่งใส
     7.  ร่วมกันปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
     8.  สร้างเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรและความผูกพันต่อองค์กร
     9.  ภาระหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องและหรือตามที่ได้รับมอบหมาย

This Post Has Been Viewed 3,472 Times