ประวัติการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ โดยการจัดการอบรมพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นทางการ ให้ครอบคลุมในทุกด้านที่สำคัญ เพื่อให้ คณาจารย์และบุคลากรสายปฏิบัติการ มีความรู้ ความสามารถ ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลัง เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
จุดเริ่มต้นการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ
ในการสัมมนาผู้อำนวยการในสังกัดสำนักงานมหาวิทยาลัยและเลขานุการคณะ สถาบันฯ เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบ Competency และ Individual Development Plan (IDP) ของบุคลากรสายปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรมวรบุรี อโยธยา คอนเวนชัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการกำหนดหัวข้อหนึ่งในการประชุมครั้งนั้น คือ แนวทางการพัฒนาเครือข่ายวิชาชีพ ซึ่งที่ประชุมได้ระดมความคิดเห็นและได้ข้อสรุปว่า เห็นสมควรให้มีการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมา มหาวิทยาลัย โดยท่านอธิการบดี (ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล) รองอธิการบดี (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เจษฎา แสงสุพรรณ) และผู้ช่วยอธิการบดี (นายเกรียงศักดิ์ บูรณปัทมะ) ได้สนับสนุนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- สร้างเครือข่ายการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรสายปฏิบัติการในแต่ละวิชาชีพให้มีการสื่อข้อความอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
- แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างความเข้าใจในนโยบาย ระเบียบ แนวปฏิบัติ ปัญหา อุปสรรคและวิธีการแก้ไขที่เกี่ยวข้องในแต่ละวิชาชีพ
- พัฒนาบุคลากรในแต่ละเครือข่ายวิชาชีพให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะตามความจำเป็นต้องการของวิชาชีพนั้นๆ อย่างทั่วถึง และได้รับการยอมรับเป็นมืออาชีพ
- ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรในแต่ละวิชาชีพ (Occupational Development Roadmap) ไว้เป็นบรรทัดฐานสำหรับตำแหน่งในระดับต่างๆ
- ร่วมกันเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือแนวปฏิบัติอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนั้นๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
- เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรในแต่ละวิชาชีพและต่างวิชาชีพ
ในระยะเริ่มแรก ปี พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ วิชาชีพต่างๆ
ดังนี้
ปี พ.ศ. 2553
- วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง
- วิชาชีพการเงิน
- วิชาชีพการบัญชี
- วิชาชีพการพัสดุ
- วิชาชีพแผนและงบประมาณ
- วิชาชีพบริการวิชาการและวิจัย
- วิชาชีพวิชาการและหลักสูตร
- วิชาชีพกิจการต่างประเทศ
- วิชาชีพบุคคล
- วิชาชีพสารบรรณ
- วิชาชีพอาคารสถานที่และยานพาหนะ
- วิชาชีพโสตทัศนศึกษา
- วิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ
- วิชาชีพห้องสมุด (จัดตั้งมาก่อนปี พ.ศ. 2553)
ปี พ.ศ. 2554
15. วิชาชีพประชาสัมพันธ์
16. วิชาชีพทะเบียนและประมวลผล
17. วิชาชีพกิจการนิสิต
ปี พ.ศ. 2555
18. วิชาชีพบริหารคุณภาพองค์กร
ปัจจุบัน มีเครือข่ายฯ รวม 18 เครือข่าย คือ
- วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง ด้านบริหาร
- วิชาชีพการเงิน
- วิชาชีพการบัญชี
- วิชาชีพการพัสดุ
- วิชาชีพแผนและงบประมาณ
- วิชาชีพบริการวิจัยและบริการวิชาการ
- วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง ด้านวิชาการ (ควบรวมกับเครือข่ายวิชาชีพวิชาการและหลักสูตร)
- วิชาชีพวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ (เปลี่ยนชื่อจากเครือข่ายกิจการต่างประเทศ)
- วิชาชีพบุคคล
- วิชาชีพสารบรรณ
- วิชาชีพอาคารสถานที่และยานพาหนะ
- วิชาชีพโสตทัศนศึกษา
- วิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ
- วิชาชีพห้องสมุด (จัดตั้งมาก่อนปี พ.ศ. 2553)
- วิชาชีพประชาสัมพันธ์
- วิชาชีพทะเบียน (เปลี่ยนชื่อจากเครือข่ายวิชาชีพทะเบียนและประมวลผล)
- วิชาชีพกิจการนิสิต
- วิชาชีพบริหารคุณภาพองค์กร
การดำเนินงาน
มหาวิทยาลัย โดยกองทุนเพื่อการพัฒนาบุคลากร ได้สนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณการดำเนินงานของเครือข่ายฯ วิชาชีพ โดยกำหนดกิจกรรมหลักในการดำเนินงานของเครือข่ายฯ คือ
- การจัดประชุมคณะกรรมการเครือข่ายฯ ประจำเดือน เพื่อใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรึกษาหารือ เสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน การจัดกิจกรรมการฝึกอบรมพัฒนาให้กับสมาชิก และอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเครือข่ายฯ
- การจัดการประชุม ฝึกอบรม สัมมนา เพื่อพัฒนาบุคลากรของเครือข่ายฯ โดยเน้นการพัฒนาตามสมรรถนะวิชาชีพ (Functional Competency) ในลักษณะพี่สอนน้อง
- การพัฒนาเครือข่ายฯ ในกิจกรรมสำคัญในแต่ละปี โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาบุคลากรจะกำหนดหัวข้อสำคัญในการพัฒนา เช่น
3.1 ปี พ.ศ. 2554 โครงการพัฒนาพัฒนาเครือข่ายฯ ด้วยแนวคิด Lean เพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ซึ่งจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ และส่งเสริมให้เครือข่ายเสนอผลงานเข้าร่วมในโครงการมหกรรมคุณภาพ “ก้าวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ ก้าวใหม่ๆ เพื่อจุฬาฯ” โดยมีเครือข่ายที่ได้รับรางวัลดังนี้
- เครือข่ายวิชาชีพบริการวิจัยและบริการวิชาการ จัดทำโครงการการบริหารจัดการทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม
- เครือข่ายวิชาชีพวิชาการและหลักสูตร จัดทำโครงการลดระยะเวลาการอนุมัติหลักสูตร ได้รับรางวัลดีเด่น
- เครือข่ายวิชาชีพกิจการต่างประเทศ จัดทำโครงการลดขั้นตอนการให้บริการวิซ่า (Visa) ได้รับรางวัลดีเด่น
3.2 ปี พ.ศ. 2555 โครงการจัดทำตัวชี้วัดระดับบุคคล สายปฏิบัติการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานเป็นรูปเล่ม สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดผลผลิตในการมอบหมายงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน
3.3 ปี พ.ศ. 2556 โครงการ KM การจัดการความรู้เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ โดยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ และส่งเสริมให้เครือข่ายฯ จัดระบบการนำความรู้ประเภทต่างๆ เช่น คู่มือการปฏิบัติงาน เทคนิควิธีการทำงาน ฯลฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมให้มีการรวมรวมองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งในด้านการปฏิบัติงาน การบริหารจัดการ ทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุง ตลอดจนมีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ภายในเครือข่ายและระหว่างเครือข่าย
3.4 ปี พ.ศ. 2557 มหาวิทยาลัยได้จัดทำเวปไซต์ KM การจัดการความรู้เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ https://www.km.chula.ac.th เพื่อใช้เป็นสื่อกลางสำหรับสมาชิกเครือข่าย ฯ และได้มีการทำคู่มือการปฎิบัติงานของวิชาชีพ มีการจัดทำหลักสูตร “พี่สอนน้อง” เพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ของสมาชิกที่เข้ามาทำงานในวิชาชีพนั้นๆ
การพัฒนาต่อเนื่องเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพสายปฏิบัติการ
เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพ สายปฏิบัติการ ให้เกิดการพัฒนาบุคลากร เกิดการพัฒนางานที่เน้นคุณค่าในมุมมองของผู้รับบริการ เกิดการทำงานเป็นทีมระหว่างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เกิดการเรียนรู้ของบุคลากรทุกระดับและเกิดการทำงานที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ เชื่อมโยงการทำงานของระบบงานต่าง ๆ โดยลดความสูญเปล่า จึงเห็นสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีพ สายปฏิบัติการ วิชาชีพบริหารจัดการระดับกลาง ด้านบริหาร โดยให้มีขอบข่ายภาระหน้าที่ คือ
1. สร้างเครือข่ายการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรสายปฏิบัติการให้รวดเร็วและทั่วถึง
2. จัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเพิ่มความเป็นมืออาชีพในแต่ละงาน
3. สร้างความเข้าใจในนโยบาย ระเบียบ เร่งปรับปรุงแก้ไขปัญญา ในแต่ละงาน
4. ร่วมกันกำหนด Occupational Development Roadmap ไว้เป็นบรรทัดฐานสำหรับแต่ละงานหรือวิชาชีพในระดับต่างๆ
5. ร่วมรับนโยบายการบริหารงานอย่างโปร่งใสไปปฏิบัติและถ่ายทอดในส่วนงาน/หน่วยงาน พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้เกิดความโปร่งใสยิ่งขึ้น
6. ร่วมปฏิบัติตามนโยบายและร่วมพัฒนาการดำเนินงานที่เอื้อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรลุพันธกิจด้วยกระบวนการที่โปร่งใส
7. ร่วมกันปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
8. สร้างเสริมให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรและความผูกพันต่อองค์กร
9. ภาระหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องและหรือตามที่ได้รับมอบหมาย